วันพฤหัสบดีที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2566

มหาวิทยาลัยกำลังจะตาย

เด็กเกิดน้อย วัยเรียนลดลง ปริญญาถูกลดความสำคัญ! หรือมหาวิทยาลัยจะไปไม่รอด? วัยรุ่นสหรัฐมองปริญญาให้หลักประกันทางการเงินไม่ได้ ด้านประเทศไทยผลกระทบเป็น “งูกินหาง” ตายมากกว่าเกิด เด็กเข้าเรียนลดลง สะเทือนมหาวิทยาลัย “อาจารย์” ส่อกลายเป็นอาชีพไม่มั่นคง
.
“ปริญญา” สำคัญแค่ไหน? 10 ปีที่แล้วเราคงตอบคำถามนี้ได้ทันทีว่า การเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยเป็นใบเบิกทางสำคัญต่ออาชีพการงานในอนาคต โดยเฉพาะค่าตอบแทนสำหรับคนหนุ่มสาววุฒิปริญญาตรีที่กลายเป็นแรงจูงใจให้พ่อแม่ผู้ปกครองผลักดันลูกหลานเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยจนจบการศึกษาได้สำเร็จเพื่อเข้าสู่ตลาดแรงงานในฐานะ “White-collar worker” หรือ “คนงานคอปกขาว” ยิ่งในช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอยยิ่งทำให้เห็นชัดมากขึ้นว่า คนทำงานออฟฟิศวุฒิปริญญาตรีมีเปอร์เซ็นต์ “ตกงาน” น้อยกว่า “Blue-collar worker” หรือ “คนงานคอปกน้ำเงิน” ที่ใช้กำลังแรงกายในการทำงานเป็นหลัก
.
แต่เหตุผลและคำอธิบายทั้งหมดที่ว่ามาคงใช้ไม่ได้ในสถานการณ์ปัจจุบันอีกแล้ว เมื่อเราพบข้อมูลที่น่าสนใจจากสำนักข่าว “เดอะ นิวยอร์ก ไทม์ส” (The New York Times) ที่มีการระบุถึงผลสำรวจความรู้สึกของชาวอเมริกันที่มีต่อการศึกษาระดับอุดมศึกษาเปลี่ยนแปลงไปในทางลบ คนหนุ่มสาวที่มองว่า วุฒิการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยสำคัญลดลงจาก 71% ในปี 2009 เหลือเพียง 41% ในปี 2023 
.
ทั้งยังพบว่า เด็ก “เจน Z” กว่า 45% มองว่า เพียงวุฒิระดับมัธยมศึกษาตอนปลายก็สามารถเป็นหลักประกันความมั่นคงทางการเงินให้กับพวกเขาได้แล้ว
.
ภาพความเปลี่ยนแปลงในรั้วมหาวิทยาลัยไม่ได้เกิดแค่ในสังคมอเมริกันเท่านั้น แต่ยังพบอีกว่า ประเด็นว่าด้วยเรื่องอนาคตของมหาวิทยาลัยไทยมีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกัน คือจำนวนนักศึกษาหดตัวลง อาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัยได้รับผลกระทบ อนาคตอันใกล้อาจกลายเป็นอาชีพที่อยู่บนความไม่มั่นคงเหมือนกับอาจารย์มหาวิทยาลัยยุคก่อนๆ อีกแล้ว
.
แหล่งข่าวอดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยชื่อดังให้ข้อมูลกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า สำหรับอาจารย์มหาวิทยาลัยที่สังกัดขนาดใหญ่และมีชื่อเสียงยังไม่น่าเป็นกังวลนัก แต่สำหรับมหาวิทยาลัยขนาดกลางและขนาดเล็กอาจต้องพบเจอกับสถานการณ์ไม่สู้ดีเท่าไร มหาวิทยาลัยเอกชนอาจมีการปรับตัวด้วยการลดจำนวนบุคลากรลง หรืออย่างที่เราเห็นกันในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ว่า บางมหาวิทยาลัยตัดสินใจปิดบางคณะลง เนื่องจากจำนวนนักศึกษาน้อยกว่ากำหนดและไม่ได้รับควานนิยมเท่าแต่ก่อน
.
นอกจากนี้ อาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัยที่เคยถูกมองว่า เป็นอาชีพที่มั่นคงก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้นอีกแล้ว เพราะหลังจากมีการปฏิรูประบบการจ้างงานในมหาวิทยาลัยสถานะของอาจารย์ก็ถูกลดทอนลงจาก “ข้าราชการ” เป็น “พนักงานมหาวิทยาลัย” สวัสดิการที่เคยได้รับก็ไม่เหมือนกัน สถานะข้าราชการเป็นการจ้างงานถึงอายุ 60 ปี แต่อาจารย์มหาวิทยาลัยยุคนี้มีเงื่อนไขแตกต่างกันอาจต่อสัญญากันทุก 5 ปี 10 ปี หรือแย่ไปกว่านั้นคือต่อสัญญากันแบบ “ปีต่อปี” ก็มีให้เห็นแล้ว
.
อ่านต่อ: https://www.bangkokbiznews.com/health/education/1101063?anm=
.
.
#กรุงเทพธุรกิจ #กรุงเทพธุรกิจBusiness

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น