วันจันทร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2566

Gen Z

เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ความเชื่อและแนวคิดของคนในยุคสมัยนั้นๆ ก็เปลี่ยนตาม
.
ย้อนไป 20-30 ปีก่อน ยุคสมัยที่ Gen X เริ่มทำงานแรกๆ เราอาจคุ้นชินกับแพตเทิร์นชีวิต “เรียนจบ->หางานในบริษัทใหญ่ที่มั่นคง->ออมเงินเพื่อเกษียณวัย 60 ปี” สร้างความมั่นคงและมั่งคั่งให้ชีวิตโดยการขยับขึ้นบันไดตำแหน่งการงานในบริษัท
.
แต่หากไปถามกลุ่มคนรุ่นใหม่อย่าง Gen Z (เกิดช่วงปี 1997 - 2012) แนวคิดนี้อาจจะไม่ได้ตอบโจทย์ชีวิตของพวกเขาอีกต่อไป
.
จากรายงานแบบสำรวจ “2024 Trend Talk” ความคิดเห็นของชาว Gen Z ที่ Instagram ไปสำรวจมากว่า 5,000 คนจากประเทศ บราซิล, อินเดีย, เกาหลีใต้, อังกฤษ และ อเมริกา พบว่า 1/3 ของ Gen Z คิดว่าวิธีที่ดีที่สุดสำหรับการสร้างความมั่นคงและมั่งคั่งให้กับชีวิตตัวเองไม่ใช่การปีนบันไดตำแหน่งงานให้สูงขึ้นเรื่อยๆ ในบริษัทใหญ่ๆอีกต่อไป แต่คือการ ‘เป็นนายตัวเอง’ ต่างหาก
.
ทัศนคตินี้แตกต่างไปจากคนรุ่นก่อนๆ อย่างชัดเจน ยุคสมัยที่คนจะทำงานอยู่กับบริษัทเดียวไปจนเกษียณอายุและเกษียณไปอยู่บ้านช่วงวัย 60 ปี กำลังจะเลือนหายไป ไม่ใช่เพราะว่าแนวคิดนี้เป็นสิ่งที่ไม่ดีหรือล้าสมัย เพียงแต่ปัจจัยรอบขตัวและความท้าทายในชีวิตของพวกเขาแตกต่างไปจากเมื่อก่อนซะมากกว่า
.
จบมหาวิทยาลัยแล้วเข้าไปสู่ตลาดแรงงานด้วยเงินเดือนค่าแรงขั้นต่ำ แค่มีเงินพอถึงสิ้นเดือนแบบไม่เป็นหนี้ก็ถือว่าเก่งมากๆ แล้ว บางคนมีหนี้กยศ. ติดตัว บางคนเป็นความหวังของครอบครัวต้องส่งเงินกลับบ้านไปเลี้ยงพ่อแม่พี่น้องรวมถึงหลานๆ อันนี้ยิ่งหนักเข้าไปอีก
.
ราคาบ้านในเมืองที่สูงจนแทบเอื้อมไม่ถึงสำหรับคนทั่วไป เงินเดือนก็ขึ้นทีละนิดแทบไม่ทันค่าครองชีพที่ขึ้นเหมือนติดจรวด อยากได้เงินเดือนเพิ่มหรือตำแหน่งที่ก้าวหน้าก็ต้องคอยสมัครงานใหม่ไปเรื่อยๆ 
.
กลุ่มพนักงานรุ่นใหม่จึงค่อนข้างเปราะบางต่อสถานการณ์เศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนกว่าคนรุ่นอื่นๆ ทำให้เกิดความรู้สึกไม่มั่นใจในระบบแบบเดิมๆ และทำให้เชื่อว่าการทำงานเป็นเจ้านายของตัวเองนั้นอาจจะนำไปสู่ผลลัพธ์ปลายทางที่มั่นคงมากกว่าการทำงานให้กับบริษัทเหมือนที่รุ่นก่อนๆ ทำ
.
นอกจากนั้นแล้วระบบที่ผ่านมาก็ไม่ใช่ว่าดีงามเสมอไป กลุ่มคน Gen Z เห็นมากับตาแล้วถึงความลำบากของคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ที่หวังพึ่งระบบแต่สุดท้ายต้องมาตกงานและมีชีวิตที่ยากลำบาก มาร์ซี่ เมอร์ริแมน (Marcie Merriman) ผู้นำด้านกลยุทธ์ลูกค้าและข้อมูลเชิงลึกทางวัฒนธรรมของบริษัท EY (เอินส์ทแอนด์ยัง) หนึ่งในบริษัทตรวจสอบบัญชีสี่แห่งที่ใหญ่ที่สุดในโลกบอกกับนิตยสาร Fortune ว่า
.
“อย่างน้อยที่สุดสิ่งที่พวกเขาเห็นคือการที่องค์กรตัดพนักงาน เลือกเส้นทางที่คงกำไรของตัวเองแบบไม่ลังเล พวกเขาเห็นสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นกับพ่อแม่ เกิดขึ้นกับคนยุคมิลเลนเนียล และช่วงสองสามปีที่ผ่านก็เจอกับตัวเองด้วย”
.
ศรัทธาที่มีต่อบริษัทกำลังเลือนหายไป ฉากหลังที่เศรษฐกิจลุ่มๆดอนๆ ความไม่แน่นอนทางการเมืองทั้งในประเทศเองหรือความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในประเทศมหาอำนาจ สิ่งเหล่านี้ทำให้กลุ่มพนักงาน Gen Z รู้สึกว่าปัญหาและโจทย์ของชีวิตพวกเขาแตกต่างไปจากรุ่นก่อนๆ อย่างชัดเจน หลายคนมองว่าการเกษียณอาจจะเป็นเรื่องที่ไกลเกินเอื้อมสำหรับพวกเขาซะด้วยซ้ำ
.
ช่วงไม่กี่เดือนก่อนมีวิดีโอไวรัลอันหนึ่งที่พนักงาน Gen Z ออกมาบอกว่าตกใจกับตารางการทำงานแบบ ‘9 โมงเช้า - 5 โมงเย็น’ มากๆ ทำงานแบบนี้เรียกว่าไม่มีเวลาเป็นของตัวเองเลย ซึ่งสิ่งที่พวกเขาต้องการคือความยืดหยุ่นที่มากกว่านี้ (แต่ก็มีกระแสต้านเช่นกันว่าควรต้องปรับตัวให้เข้ากับระบบ)
.
ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม ดูเหมือนว่า Gen Z ที่ออกจากรั้วมหาวิทยาลัยและกำลังเริ่มเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคต่อไปก็รู้สึกว่าระบบเดิมมันอาจจะไม่เหมาะสมแล้ว 
.
แบบสำรวจในปี 2021 จากบริษัทด้านการดูแลสุขภาพและประกันภัยข้ามชาติสัญชาติอเมริกัน Cigna บอกว่า 98% ของคนที่อายุ 18-24 กว่า 98% เคยมีประสบการณ์เบิร์นเอาต์จากการทำงานมาก่อน รู้สึกเครียดอยู่บ่อยครั้ง ส่วนหนึ่งมาจากเรื่องรายได้ที่ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย กว่าครึ่งหนึ่งบอกว่าต้องทำงานเสริมเพื่อหาเงินมาเติม (ขับรถส่งอาหาร ขายของออนไลน์ ฯลฯ) แต่ถึงอย่างนั้นก็แทบจะไม่พออยู่ดี และแบบสอบถามจากแพลตฟอร์มรวบรวมงานฟรีแลนซ์ Fiverr ก็พบว่ากว่า 67% ของขาว Gen Z มองว่าการทำอาชีพฟรีแลนซ์อาจจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่างานประจำทั่วไป
.
เราจะเห็นงานใหม่ๆ ที่ผุดขึ้นมาอย่างการเป็นนายหน้า TikTok ขายของออนไลน์ ยูทูบเบอร์ อินฟลูเอนเซอร์ สายนั้นสายนี้ หลายคนก็ทำเป็นอาชีพสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ 
.
ในวันที่จำนวนคนติดตามคือสกุลเงินแห่งโลกโซเชียล มันคือยุคที่โอกาสเปิดกว้าง แทบทุกคนสามารถเข้าถึงเครื่องมือ ความรู้ และเทคโนโลยีได้อย่างทั่วถึง แต่การจะไปถึงจุดที่สร้างเนื้อสร้างตัวได้นั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายอีกเช่นกัน เพราะอย่าลืมว่าแม้เทคโนโลยีหรือแพลตฟอร์มจะเหมือนกัน แต่ทุกคนไม่ได้เริ่มจากจุดเดียวกัน (เงิน, คนรู้จัก, หรือแม้แต่รูปร่างหน้าตา)
.
ไม่ว่าจะเป็นทำงานเสริม ฟรีแลนซ์ ขายของออนไลน์ เป็นอินฟลูฯ หรือทำธุรกิจส่วนตัว ดูแล้วเหมือนว่ายุคสมัยแห่งการพึ่งพาบริษัทและองค์กรใหญ่ๆ กำลังเกิดขึ้นแล้ว จากสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนรุ่นพ่อแม่ (และบางคนก็เรียนรู้ด้วยประสบการณ์ตรง) ว่าการเลือกทำงานในบริษัทที่คิดว่ามั่นคงปลอดภัยก็ไม่ได้ปลอดภัยอย่างที่คิด สามารถตกงานได้ง่ายๆ ในช่วงที่เศรษฐกิจโงนเงน บางทีการพึ่งพาตัวเองอาจจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าก็ได้
.
เหมือนอย่างปาฐกถาปี 2014 ที่ Maharishi University of Management ที่ จิม แคร์รีย์ (Jim Carrey) กล่าวว่า
.
“พ่อของผมสามารถเป็นนักแสดงตลกเก่งๆ ได้เลยนะ แต่เขาไม่เชื่อว่ามันเป็นไปได้สำหรับเขา เขาจึงตัดสินใจเลือกทางที่ระมัดระวัง เขาเลือกงานที่ปลอดภัยอย่างนักบัญชีและตอนผมอายุ 12 เขาก็ถูกปลดออกจากงาน และครอบครัวของเราก็ต้องทำทุกอย่างเพื่อเอาตัวรอด”
.
บทเรียนที่เขาเขียนเรียนรู้ตอนนั้นคือ
.
“[ในเมื่อ] ทำสิ่งที่ไม่ชอบก็ยังล้มเหลวได้ ถ้าแบบนั้นไม่ลองเสี่ยงทำในสิ่งที่คุณรักดูละ”
.
- โสภณ ศุภมั่งมี (บรรณาธิการ #aomMONEY)
,
#aomMONEY #บทบรรณาธิการ #การเงินส่วนบุคคล #การเงิน #GenZ #Freelance #คนทำงาน #นายตัวเอง #งานคนรุ่นใหม่ #ทัศนคติ #แนวคิด
.
[อ้างอิงในคอมเมนต์]

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น