วันศุกร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2561

คุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้นำทางทหาร 14 ประการ


คุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้นำทางทหาร 14 ประการ


             คุณลักษณะของผู้นำที่ครบถ้วนหรือคุณลักษณะของผู้นำที่ต้องการที่สุดที่ผู้นำทางทหารควรจะมี จำนวน 14 ประการ ประกอบด้วยลักษณะต่างๆดังนี้
             1. การวางท่าทาง (BEARING) หมายถึงการสร้างความประทับใจ ให้เป็นที่นิยมของผู้อื่นอยู่ตลอดเวลาในเรื่องท่าทาง การวางตัวและความประพฤติ เป็นแบบอย่างให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเอาอย่าง หลีกลี่ยงการพูดด้วยถ้อยคำเหยียดหยามต่อผู้ใต้บังคับบัญชา ผู้บังคับบัญชาควรหลีกเลี่ยงการตำหนิติเตียน หรือการลงโทษแบบเหมาหมดทั้งกลุ่มโดยเด็ดขาด
            2. ความกล้าหาญ (ทางกาย และทางใจ) (COURAGE)   ความกล้าหาญ เป็นคุณสมบัติทางใจอย่างหนึ่ง ที่มีความรู้สึกต่อความกลัวภยันตรายหรือวิกฤตกาล ความกล้าหาญมีความสำคัญยิ่งต่อความเป็นผู้นำ ผู้นำจะต้องมีความกล้าหาญทั้งในทางกายและทางใจ ความกล้าหาญทางใจหมายความถึงการรู้จักและยึดมั่นในสิ่งที่ถูกที่ควร แม้ว่าสิ่งนั้นจะไม่เป็นที่สบอารมณ์ของผู้ใดก็ตาม ผู้นำที่มีความกล้าหาญทางใจ จะกล้ายอมรับผิดพลาดต่าง ๆ ที่ตนกระทำขึ้น และต้องกล้ากระทำการตามความตกลงใจของตนในเมื่อตนมั่นใจว่าตนถูก
            3. ความเด็ดขาด (DECISIVENESS)  ผู้นำ ควรจะมีความสามารถทำการตัดสินใจได้อย่างฉับพลัน และสามารถแจ้งผลของการตัดสินใจนั้นได้อย่างชัดเจนและหนักแน่น ผู้นำที่ฉลาดจะต้องพิจารณาถึงข้อเท็จจริงต่าง ๆ ทำการเปรียบเทียบหนทางปฏิบัติต่าง ๆ แล้วจึงทำการตกลงใจอย่างมั่นคงในลักษณะที่ใจเย็น และรวดเร็ว
            4.  ความเป็นผู้เชื่อถือได้ (DEPENDABILITY)  ความเป็นผู้เชื่อถือได้ หมายถึง การได้รับความไว้วางใจ ในการปฏิบัติงานตามหน้าที่ได้อย่างถูกต้อง ความเป็นผู้เชื่อถือได้นี้เป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่ง ที่ผู้นำจะต้องพัฒนาให้มีขึ้นในตัวเอง ผู้นำที่เชื่อถือได้สามารถจะได้รับความไว้วางใจในการปฏิบัติงาน ได้อย่างคล่องแคล่ว ว่องไว, เฉลียวฉลาด ผู้นำที่มีความสำนึกในการปฏิบัติหน้าที่สูง มักจะใช้ความพยายามอย่างดีที่สุดอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การทำงานได้มาตรฐานอย่างสูงสุด
            5.  ความอดทน (ENDURANCE) หมายถึง อำนาจความคงทนทั้งในทางร่างกายและจิตใจ ที่วัดได้จากขีดความสามารถในการทนต่อความเจ็บปวด, ความเหน็ดเหนื่อย, ความยากลำบากและงานหนัก ความอดทนเป็นคุณสมบัติที่สำคัญประการหนึ่งของความเป็นผู้นำ ผู้นำที่ขาดความอดทนนั้นอาจทำให้ต้องขาดความกล้าหาญไปด้วย ความอดทนในที่นี้หมายความถึงขีดความสามารถที่จะคงทนต่อการงานและการดูแลงานนั้นไปได้จนตลอด
            6.  ความกระตือรือร้น (ENTHUSIASM)  ความกระตือรือร้น คือ การแสดงออกถึงความสนใจ และความมีใจจดจ่อต่อการปฏิบัติงานตามหน้าที่อย่างจริงใจ ความกระตือรือร้นในที่นี้หมายความถึงว่า จะต้องทำงานด้วยความร่าเริงและคิดในแง่ดีเสมอ และมีความตั้งใจที่จะทำงานนั้นให้บังเกิดผลดีด้วย  ทัศนคติของผู้นำจะเป็นตัวอย่าง ให้บุคคลที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชา การสนใจและความกระตือรือร้นของผู้นำ จะมีผลสะท้อนไปถึงผู้ใต้บังคับบัญชาด้วย
            7. ความริเริ่ม (INITIATE) ความริเริ่ม คือ การเห็นว่า อะไรควรจะทำ แล้วเริ่มต้นตามหนทางปฏิบัติในทันที ถึงแม้ว่าผู้นำจะไม่ได้รับคำสั่งใด ๆ ก็ตาม เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทหารทุกคนไม่ว่าจะมียศชั้นไหน ทหารทุกคนย่อมจะรวมกันข้างหลังผู้บังคับบัญชาของตนได้อย่างรวดเร็ว และพร้อมที่จะปฏิบัติได้ทันทีในเมื่อผู้บังคับบัญชาของตนต้องเผชิญกับสถานการณ์ใหม่ที่มิได้คาดคิดไว้ก่อน ผู้บังคับบัญชาควรจะสนับสนุนให้ผู้ใต้บังคับบัญชาของตนมีความริเริ่มในการทำงาน โดยมอบหมายงานให้แต่ละคนทำตามขีดความสามารถของแต่ละบุคคล แล้วปล่อยให้เขาทำงานไปตามวิธีการของเขาเองไปจนกว่าจะเสร็จ เมื่อมอบหมายงานแล้วก็ทำการกำกับดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาให้ถูกต้องด้วย
            8. ความซื่อสัตย์ (INTEGRITY)  ความซื่อสัตย์ เป็นคุณสมบัติที่ผู้นำจะขาดเสียมิได้ ความซื่อสัตย์ คือ การเป็นผู้มีอุปนิสัยซื่อตรงและตั้งมั่นอยู่ในหลักธรรมต่าง ๆ ตลอดจนเป็นผู้มีคุณสมบัติในทางรักษาสัจจะ และมีความซื่อสัตย์สุจริตอย่างแท้จริง บุคคลใดถ้าไม่มีความซื่อสัตย์แล้ว บุคคลนั้นย่อมไว้วางใจไม่ได้เลย ในทางทหารนั้น จะไม่มีการยอมให้มีผู้ใดมีความซื่อสัตย์น้อยไปกว่าเกณฑ์สูงสุดที่ตั้งไว้แม้แต่น้อย และจะไม่มีการผ่อนปรนใด ๆ ทั้งสิ้น
            9. วิจารณญาณ (JUDGEMENT)  วิจารณญาณ คือ คุณสมบัติของการเปรียบเทียบความจริงกับหนทางแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่น่าจะเป็นไปได้ เพื่อทำให้ได้ข้อตกลงใจที่ดีที่สุด วิจารณญาณย่อมจะเสริมสร้างให้ดีขึ้น โดยพยายามปรับปรุงตนให้มีความรู้ทางเทคนิคให้มากที่สุดเท่าที่จะสามารถกระทำได้  ไม่ทำการตกลงใจแบบหุนหันพลันแล่น  ศึกษาพิจารณาปัญหาต่าง ๆ ด้วยสามัญสำนึก
            10. ความยุติธรรม (JUSTICE)  ความยุติธรรม คือ คุณสมบัติของความเป็นผู้ไม่มีอคติ และมีความเที่ยงตรงในการปกครองบังคับบัญชา ความยุติธรรมเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการให้รางวัลและการลงโทษไปตามข้อผิดถูกที่เกิดขึ้นโดยไม่ยอมให้มีอารมณ์ของความโกรธ หรืออารมณ์อื่นใดเข้ามาแทรกแซง ผู้นำจะต้องไม่มีอุปทานของการเลือกชั้น วรรณะ และการเชื่อถือใด ๆ ทั้งสิ้น
            11. ความรู้  (KNOWLEDGE)  ความรู้ หมายถึง ข่าวสารต่าง ๆ ที่ได้รับรู้มาซึ่งรวมทั้งความรู้ในวิชาชีพ และความเข้าใจเกี่ยวกับผู้ใต้บังคับบัญชา ไม่มีอะไรที่จะก่อให้เกิดความเชื่อมั่น และความเคารพนับถือได้อย่างรวดเร็วไปมากกว่าการแสดงให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเห็นว่า ตนมีความรู้ บุคคลที่มีความล่วงรู้งานในหน้าที่ของตนย่อมจะทำให้เกิดความเชื่อมั่นในตนเอง และเกิดความเชื่อมั่นแก่บุคคลอื่น ๆ ด้วย ความรู้ของผู้นำนั้น ไม่ควรจะมีจำกัดเฉพาะแต่เรื่องในวงการทหารเท่านั้น ถ้าผู้นำมีความรู้เรื่องระดับชาติ และระหว่างชาติอย่างกว้างขวางแล้ว จะทำให้ผู้นำเป็นบุคคลที่มีความรู้กว้างขวางมากขึ้น 
            12. ความจงรักภักดี (ROYALTY) ความจงรักภักดี คือคุณสมบัติของความซื่อสัตย์ที่มีต่อประเทศชาติ, กองทัพบก, หน่วยของตน, ผู้อาวุโสกว่าตน, ผู้ใต้บังคับบัญชา, แลมิตรสหาย  ถ้าผู้นำมีคุณสมบัติอันนี้เพียงอย่างเดียว ก็จะทำให้ผู้บังคับบัญชา, ผู้ใต้บังคับบัญชา และมิตรสหาย มีความเชื่อมั่นและนับถือในตัวผู้นำได้
            13.   กาลเทศะ (TACT) กาลเทศะ คือ ความสามารถในการปฏิบัติตนกับบุคคลอื่น โดยไม่ให้เกิดความขุ่นข้องหมองใจ ความสุภาพอ่อนโยนถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องกาลเทศะ เพราะฉะนั้นในความสัมพันธ์ระหว่างตัวผู้นำกับผู้บังคับบัญชา และผู้ใต้บังคับบัญชา ผู้นำไม่ควรจะละเลยเรื่องความสุภาพอ่อนโยนนี้เสีย ในขณะที่ผู้ใต้บังคับบัญชามีความสุภาพอ่อนโดยต่อผู้นำ แต่ผู้นำกลับไม่แสดงความสุภาพอ่อนโยนตอบอย่างเหมาะสม ย่อมจะทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเข้าใจว่าผู้นำเป็นคนหยิ่งยโส หรือเป็นคนขาดความสนใจได้
            14. ความไม่เห็นแก่ตัว (INSELFISHNESS) ผู้นำที่ไม่เห็นแก่ตัว คือ ผู้นำที่ไม่หาความสะดวกสบาย และความเจริญก้าวหน้าให้กับตนเองจากความเดือนร้อนของผู้อื่น แต่จะต้องเป็นผู้นำที่พยายามทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาได้รับความสะดวกสบาย, ความสนุกสนาน, เพลิดเพลิน และการบันเทิงใจก่อนตน ผู้นำที่แท้จริงนั้นจะต้องยอมรับภยันตราย, งานหนัก และความไม่สะดวกสบายต่าง ๆ เช่นเดียวกับผู้ใต้บังคับบัญชาของตน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น