วันศุกร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2561

พลังอำนาจแห่งชาติ


พลังอำนาจแห่งชาติ
สาระสำคัญ
คำว่า พลังอำนาจหรือ กำลังอำนาจนั้นมีความหมายเหมือนกัน คือ มาจากรากศัพท์ภาษาอังกฤษคำเดียวกันว่า “Power” โดยทั่วไปมักจะนำมาใช้แยกกัน เพื่อแสดงให้เห็นความแตกต่างของวัตถุประสงค์ กล่าวคือ สำหรับชาติหรือประเทศเป็นส่วนรวม จะใช้คำว่า พลังอำนาจส่วนคำว่า กำลังอำนาจจะใช้ในเมื่อกล่าวถึงองค์ประกอบของพลังอำนาจอย่างหนึ่งอย่างใดโดยเฉพาะ เช่น กำลังอำนาจทางทหาร กำลังอำนาจทางการเมือง กำลังอำนาจทางเศรษฐกิจ และกำลังอำนาจทางสังคมจิตวิทยา เป็นต้น   อย่างไรก็ตาม ในบางครั้งอาจพบคำว่า อำนาจหน้าที่” (Authority) เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ทำให้อาจเกิดข้อสงสัยและความสับสนขึ้นได้ แต่ความจริงแล้ว อำนาจหน้าที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับ พลังอำนาจเพราะ อำนาจหน้าที่ก็คือ อำนาจตามกฎหมายหรือสิทธิในการบังคับบัญชา (Command Authority) และมักพบ คำนี้ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายต่างๆ เช่น ในพระราชบัญญัติ พระราชกฤษฎีกา ข้อบังคับ และกฎกระทรวงต่างๆ อำนาจหน้าที่บางทีก็เรียกว่า อำนาจอันชอบธรรม
ในเรื่องการเมืองระหว่างประเทศหรือปัจจุบันมักเรียกกันว่า ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ” (International Relation) ก็อาจพบคำว่า พลังอำนาจเข้าไปอยู่ร่วมด้วยเสมอ กล่าวคือ ในระบบการเมืองระหว่างประเทศนั้น ประเทศเอกราชทั้งปวง ต่างก็พยายามปฏิบัติการทุกวิถีทาง เพื่อรักษาและส่งเสริมผลประโยชน์แห่งชาติตนตามแต่จะเห็นสมควร เพราะประเทศเอกราช ต่างก็ถือว่า ประเทศตนย่อมมีอำนาจ อธิปไตยเป็นของตนเอง และไม่อยู่ใต้อาณัติของผู้ใด แต่เนื่องจากบรรดาประเทศเอกราชเหล่านี้ มีพลังอำนาจไม่เท่ากัน โดยเฉพาะประเทศที่เกิดใหม่ เป็นประเทศเล็กๆ และยากจน ทำให้ดูเหมือนว่า ประเทศเหล่านี้มีพลังอำนาจน้อยกว่าประเทศใหญ่ ประเทศที่ร่ำรวย และประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า เพื่อรักษาและส่งเสริมผลประโยชน์แห่งชาติ ประเทศที่มีพลังอำนาจมากกว่า ย่อมได้เปรียบประเทศที่มีพลังอำนาจน้อยกว่า จนถึงกับมีผู้กล่าวกันว่า ประเทศที่มีพลังอำนาจมากกว่า ย่อมมีอิทธิพลเหนือประเทศที่มีพลังอำนาจน้อยกว่า และสามารถบีบบังคับประเทศที่มีพลังอำนาจน้อยกว่าให้ปฏิบัติตามในสิ่งที่ตนเองต้องการได้
ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลของทุกประเทศในโลกต่างก็ให้ความสนใจอย่างกว้างขวางในการเสริมสร้างพลังอำนาจแห่งชาติของตนให้เข้มแข็งอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเสริมสร้างกำลังกองทัพให้มีแสนยานุภาพเข้มแข็งเหนือกว่าประเทศคู่แข่ง หรือประเทศที่อาจจะเป็นศัตรูของตนได้ในอนาคต (Potential Enemy) หรือเป็นฝ่ายที่มีผลประโยชน์แห่งชาติขัดกัน เพื่อวัตถุประสงค์ในการดำรงไว้ซึ่งอธิปไตยของชาติ และป้องกันมิให้ประเทศที่อาจจะเป็นศัตรูมารุกรานประเทศตนได้ นอกจากการเสริมสร้างกำลังกองทัพหรือกำลังทหาร รัฐบาลของทุกประเทศ ก็ยังให้ความสนใจในเรื่องอื่นๆ อีกด้วย เช่น การเสริมสร้างฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศ การเสริมสร้างขวัญและกำลังใจทหารในการต่อสู้ในสงคราม เพื่อความมั่นคงปลอดภัยของชาติ เป็นต้น เพราะกำลังอำนาจทางเศรษฐกิจก็ดี ขวัญและกำลังใจทหารก็ดี ย่อมเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการรับประกันความมั่นคงแห่งชาติให้อยู่รอดปลอดภัย และให้ประชาชนมีความผาสุกตามอัตภาพโดยทั่วหน้ากัน

ผลที่ได้จากการศึกษา
ศึกษาและพิจารณาเกี่ยวกับพลังอำนาจแห่งชาติ สรุปได้ว่า พลังอำนาจแห่งชาติ เป็นพลังอำนาจทั้งสิ้นของชาติ   ทั้งที่เป็นรูปธรรมและเป็นนามธรรม  ซึ่งสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติเป็นส่วนรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทำให้บรรลุผลประโยชน์แห่งชาติ
ตระหนักได้อย่างแน่ชัดว่า พลังอำนาจแห่งชาติที่เป็นรูปธรรม เช่น กำลังทหารหรืออาวุธยุทโธปกรณ์แต่อย่างเดียวนั้น ไม่สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ ถ้าขาดการสนับสนุนจากพลังอำนาจที่เป็นนามธรรม เช่น ขวัญและกำลังใจ อุดมการณ์ และศรัทธาความเชื่อถือต่อภาวะผู้นำ
เรียนรู้ถึงการที่ประเทศย่อมอาศัยพลังอำนาจแห่งชาติของตนเป็นเครื่องมือ เพื่อทำให้นโยบายต่างประเทศที่เลือกไว้บรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์แห่งชาติ บางประเทศสามารถใช้องค์ประกอบพลังอำนาจแห่งชาติหลักทั้ง  4  ประการ คือ กำลังอำนาจทางการเมือง กำลังอำนาจทางทหาร กำลังอำนาจทางเศรษฐกิจ และกำลังอำนาจทางสังคมจิตวิทยา ไปพร้อมๆ กับการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ  แต่ขณะที่บางประเทศก็สามารถใช้ได้เพียงบางองค์ประกอบ  เพราะไม่มีขีดความสามารถที่จะใช้เครื่องมือเหล่านี้ได้ทั้งหมด  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเจตจำนงของแต่ละชาติด้วยเป็นประการสำคัญ
วิเคราะห์เปรียบเทียบข้อจำกัด กับสภาวะแวดล้อม ซึ่งแม้แต่ประเทศอภิมหาอำนาจเอง หรือประเทศใดๆ ก็ยังมีข้อจำกัด เนื่องจากสงครามทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ต่างก็เป็นสงครามจำกัดทั้งสิ้น เพียงแต่ข้อจำกัดย่อมมีมากน้อยแตกต่างกันออกไป ตามพลังอำนาจของแต่ละประเทศ และข้อจำกัดของสถานการณ์ในขณะนั้น เป็นเหตุให้มีการแสวงหาพันธมิตรหรือพวกพ้องเพื่อชดเชยข้อจำกัดเหล่านั้น









โครงสร้างและการกำหนดรูปแบบยุทธศาสตร์ชาติ
สาระสำคัญ
ในสถานการณ์โลกปัจจุบันนี้ หากวิเคราะห์ดูให้ถ่องแท้แล้ว ก็น่าจะเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าค่อนข้างจะสับสนมากพอสมควร เพราะสถานการณ์ต่างๆ แต่ละภูมิภาคของโลกได้ผันแปร และก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วเหลือเกิน ฉะนั้น กรรมวิธีต่างๆ ที่จะนำมาใช้ในการกำหนดรูปแบบของยุทธศาสตร์ ก็ค่อนข้างจะยุ่งยาก และสลับซับซ้อนมากทีเดียว ยิ่งไปกว่านั้น ลักษณะทั่วไปของยุทธศาสตร์ก็เป็นเช่นเดียวกันกับลักษณะของมนุษย์อื่นๆ ซึ่งต้องการความพยายามในการแก้ปัญหาอยู่เสมอ และไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาใดๆ ก็ตาม ผู้มีอำนาจรับผิดชอบในการแก้ปัญหา จะต้องพยายามหาทางแก้ให้ตรงจุดและมีความเข้าใจในปัญหาเป็นอย่างดี วิธีแก้ปัญหาที่เหมาะสม และมักนิยมใช้กันมาก ก็คือ การทำความเข้าใจในตัวปัญหาอย่างกว้างๆ เสียก่อน แล้วจึงศึกษาในรายละเอียดเป็นขั้นตอนต่อไป ดังสุภาษิตอังกฤษบทหนึ่งที่กล่าวไว้ว่า เห็นต้นไม้ แต่ไม่เห็นป่า” (Can’t see the forest for the tree)  ซึ่งแสดงถึงความหมายในวิธีดำเนินการแก้ปัญหานี้ได้เป็นอย่างดีว่า จะดำเนินการลำดับหรือเป็นขั้นตอนอย่างไร แต่หากมุ่งเน้นในเรื่องรายละเอียดมากเกินไป ก็จะมองไม่เห็นสถานการณ์ในภาพรวม   การกำหนดรูปแบบของยุทธศาสตร์ขึ้นก็เป็นกรรมวิธีในการแก้ปัญหาอย่างง่ายๆ เป็นรูปแบบของยุทธศาสตร์ที่กำหนดขึ้นเพื่อใช้เป็นกรรมวิธีแก้ปัญหา กล่าวคือ รูปแบบของยุทธศาสตร์ที่กำหนดขึ้นนี้ จะทำให้เรามีความเข้าใจถึงความสัมพันธ์ของ องค์ประกอบของสภาวะแวดล้อม กับยุทธศาสตร์ที่ถูกนำมาใช้ เปรียบเสมือนเป็นนักยุทธศาสตร์ที่คอยตรวจสอบ พิสูจน์ทราบ และประดิษฐ์สิ่งต่างๆ เพื่อวัตถุประสงค์ที่จะให้เครื่องจักรกลตามรูปแบบที่กำหนดขึ้น หมุนไปอย่างสม่ำเสมอโดยไม่มีอุปสรรค แม้จะมีแรงต่างๆ ที่มากระทบต่อสายพานที่หมุนล้อ ก็เป็นเสมือนกับภัยคุกคาม ซึ่งมีรูปแบบต่างๆ กัน คือ เป็นภัยที่เกิดขึ้นทั้งจากภายในและจากภายนอก นักยุทธศาสตร์ในวงกลมตอนกลางนั้น จะต้องรับทราบจุดหมายปลายทาง (Ends) หรือพิสูจน์ทราบจุดหมายปลายทางที่เขาประสงค์จะบรรลุถึงเป็นขั้นแรก จุดหมายปลายทางนี้เองจะปรากฏอยู่ในรูปของ ผลประโยชน์” (Interests) หรือ วัตถุประสงค์” (Objectives)
นักยุทธศาสตร์ชาติจะต้องเพ่งเล็งไปยัง ขีดความสามารถ” (Capabilities) ซึ่งอำนวยประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ ขีดความสามารถดังกล่าวนี้ ก็จะมี พลังอำนาจแห่งชาติ” (National Power) เป็นเครื่องบ่งชี้ขีดความสามารถเหล่านี้รวมถึง การเศรษฐกิจ การทหาร การเมือง และสังคมจิตวิทยา ขีดความสามารถเหล่านี้ คือ ขีดความสามารถทั้งสิ้นทั้งปวงที่มีอยู่ในรัฐชาตินั้น ซึ่งก็คือ องค์ประกอบของพลังอำนาจแห่งชาตินั่นเอง และได้กล่าวอย่างละเอียดไว้แล้ว  ขอให้สังเกตว่า ขีดความสามารถเป็นเสมือน เครื่องมือหรือ ปัจจัยที่จะนำไปสู่เป้าหมายต่อไป  อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตอยู่ว่า องค์ประกอบของพลังอำนาจแห่งชาตินั้น สามารถเป็นไปได้ทั้งทางบวกและทางลบ ทางบวก ก็คือ ข้อดี หรือข้อที่ส่งเสริมและเกื้อกูล ส่วนทางลบ ก็คือ ข้อเสีย หรือข้อจำกัด      นักยุทธศาสตร์จะประเมินค่าทางเลือกของตนทุกทางเลือก และเลือกหาทางเลือกที่ดีที่สุดขึ้น  เพื่อให้บรรลุจุดหมายปลายทาง หากเห็นว่าทางเลือกนั้นยังมีจุดอ่อนก็ต้องประดิษฐ์ วิธีการ” (Methods) ขึ้น เพื่อเสริมแต่ง หรือเพื่อเป็นหลักประกันที่จะให้บรรลุจุดหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ วิธีการต่างๆ ที่ประดิษฐ์ขึ้นนั้น จะปรากฎอยู่ในนโยบายแห่งชาติ โครงการ และพันธกรณีต่างๆ และอาจกำหนดขึ้น ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม  เพื่อให้บรรลุถึงจุดหมายปลายทางของผลประโยชน์แห่งชาติในที่สุดนั่นเอง
ผลที่ได้จากการศึกษา
ทราบพื้นฐานของการกำหนดยุทธศาสตร์โดยอาศัยองค์ประกอบหลัก 3 อย่าง คือ จุดมุ่งหมาย(ends) วิธีการ(ways) และเครื่องมือ(means) โดยพิจารณาให้เห็นถึงความสัมพันธ์ และเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังแนวความคิดของผู้กำหนดยุทธศาสตร์ของแต่ละชาติ
ความเข้าใจเกี่ยวกับองค์ประกอบหลักทั้งสามที่จะใช้บรรลุจุดมุ่งหมายที่กำหนดขึ้น ทำให้นักยุทธศาสตร์สามารถกำหนดยุทธศาสตร์ของตนเองหรือประเมินยุทธศาสตร์ของฝ่ายตรงข้ามโดยอาศัยพฤติกรรมเชิงประจักษ์ของฝ่ายตรงข้ามได้
วิเคราะห์ กรณีความสอดคล้องของนโยบาย กับ ยุทธศาสตร์ที่ถูกนำมาใช้ว่ามีความเหมาะสม กันตามห้วงเวลา ตลอดจนสามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม
เข้าใจถึงขั้นตอนของกระบวนการกำหนดยุทธศาสตร์ ที่จำเป็นต้องอาศัย การบูรณาการ ช่วงเปลี่ยนผ่าน ซึ่งต้องรองรับกันไปเป็นลำดับ ขององค์ประกอบยุทธศาสตร์หลัก และยุทธศาสตร์รอง ของพลังอำนาจแห่งชาติ โดยเฉพาะด้าน และองค์รวม ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตามช่วงเวลาที่สัมพันธ์กัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น