วันศุกร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2561

การศึกษาเพื่อทักษะในศตวรรษที่ 21


การศึกษาเพื่อทักษะในศตวรรษที่ 21
พันเอก ดร. รัฐนันท์ รถทอง

ในปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาในเรื่องวิกฤตการศึกษาเพื่อผลิตทรัพยากรมนุษย์ที่มีศักยภาพในโลกแห่งการแข่งขัน (Competitive World) ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีทิศทางการเข้าร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้นแต่การแข่งขันทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศก็ยังคงดำเนินอยู่ต่อไป และถึงแม้ว่าประเทศไทยจะผ่านการปฏิรูปการศึกษามา 2 ครั้งใน 2 ทศวรรษตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. 2540 ถึงปัจจุบัน ประเทศไทยก็ยังคงพบกับปัญหาทางการศึกษาโดยเฉพาะในเรื่องคุณภาพการศึกษาและมาตรฐานการประเมินคุณภาพการศึกษาโดยสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.)ของโรงเรียนและสถาบันการศึกษาในประเทศไทยที่ระดับคะแนนการประเมินมีระดับคะแนนที่สูงขึ้นเรื่อยๆโดยรวมทั้งประเทศแต่การสอบในระดับชาติและนานาชาติ เช่น Admission,  ONET , ANET ,                                TIMSS  และ PISA  นักเรียนไทยกลับมีคะแนนเฉลี่ยต่ำลงเรื่อยๆ โดยรวมในทางกลับกัน นอกจากนี้ปัญหาเรื่องมาตรฐานของข้อสอบในระดับชาติยังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักโดยนักวิชาการจากสถาบันต่างๆ รวมทั้งในเรื่องหลักสูตรแกนกลางของชาติ (National Curriculum) ที่มีการเรียนการสอนที่เน้นการท่องจำมากกว่าทักษะอื่นๆที่จำเป็นในโลกปัจจุบันและมีจำนวนชั่วโมงรวมมากเป็นลำดับต้นๆของโลก ทั้งที่ประเทศอื่นที่มีจำนวนชั่วโมงเรียนน้อยกว่าอย่างมาก เช่น สิงค์โปร์กลับมีผลสัมฤทธิ์ของการศึกษา (Education Achievement) และคะแนนสอบ PISA สูงกว่าประเทศไทยมาก อีกประการหนึ่งคือปัจจุบันงบประมาณของกระทรวงศึกษาซึ่งได้รับประมาณ 20%  ของงบประมาณแผ่นดินถือว่าสูงมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับกระทรวงอื่นแต่ปัญหาการศึกษาต่างๆที่กล่าวมายังคงไม่สามารถหาทางออกให้เป็นที่น่าพอใจของสังคมได้ และยังมีปัญหาอื่นๆอีกมากมายซึ่งปัญหาต่างๆนั้นส่วนงานที่เกี่ยวข้องกำลังระดมสมองหาทางออกให้ประเทศชาติอย่างต่อเนื่องโดยการตรวจสอบจากภาคประชาสังคมและสื่อมวลชนอย่างหนักเช่นกัน อย่างไรก็ตามมีนักวิชาการบางกลุ่มเสนอให้มองก้าวข้ามปัญหาที่ยังแก้ไม่ได้และมองไปในอนาคตหรือสร้างระบบการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการทักษะของทรัพยากรบุคคลของพลโลกในอนาคตอันใกล้นี้แทนที่จะจมกับปัญหาเดิมๆซึ่งทักษะดังกล่าวถูกเรียกว่า “ทักษะในศตวรรษที่ 21” (21st Century Skills)
Bellanca and Brandt  ได้กล่าวถึงผลลัพธ์ของนักเรียนและระบบสนับสนุนในศตวรรษที่ 21 ว่านักเรียนควรจะมีผลลัพธ์ทางการศึกษาที่เกี่ยวกับ 4 ด้านได้แก่ 1) วิชาหลัก (Core Subjects) อันประกอบด้วย ภาษาอังกฤษ ภาษาศิลปะ ภาษาอื่นๆของโลก ศิลปะ คณิตศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ความรู้เกี่ยวกับรัฐบาลและพลเมือง  นอกจากนี้ควรมีความรู้เกี่ยวกับหัวข้อสำคัญในศตวรรษที่ 21 (21st Century Themes) ได้แก่ การระมัดระวังหรือตระหนักถึงปัญหาของโลก (Global Awareness)  การเงิน เศรษฐกิจ ธุรกิจ และ การรู้เกี่ยวกับการเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurial Literacy) การรู้ในความเป็นพลเมือง (Civic Literacy) การรู้เกี่ยวกับสุขภาพ (Health Literacy) และ การรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม (Environmental Literacy)  2)  การเรียนรู้เกี่ยวกับทักษะการสร้างนวัตกรรม ( Learning and Innovation Skills) ได้แก่ ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม การคิดเชิงวิพากษ์ในการแก้ปัญหา (Critical Thinking and Problem Solving) การสื่อสารและความร่วมมือ (Communication and Collaboration)  3) ทักษะเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสาร สื่อมวลชน และเทคโนโลยี (Information, Media, and Technology Skills) ได้แก่ การรู้ข้อมูลความรู้และวิธีหาความรู้(Information Literacy) การติดตามข่าวสารที่ทันสมัยและเท่าทันสื่อมวลชน (Media Literacy) การรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communications Technology(ICT) Literacy)  4) ทักษะชีวิตและอาชีพ ( Life and Career Skills) ได้แก่ การปรับตัว (Flexibility and Adaptability) การริเริ่มและชี้นำตนเอง (Initiative and Self-Direction) การสังคมข้ามวัฒนธรรม (Social and Cross-Cultural Skills) การสร้างผลิตภาพและการตรวจสอบ (Productivity and Accountability) และการเป็นผู้นำและความรับผิดชอบ (Leadership and Responsibility)  สำหรับระบบในการสนับสนุนการศึกษา (21st Century Education Support Systems) ได้แก่ มาตรฐานและการประเมิน (21st Century Standards and Assessments) หลักสูตรและการสอน (21st Century Curriculum and Instruction) การพัฒนาความเป็นมืออาชีพ (21st Century Professional Development) และสิ่งแวดล้อมของการเรียนรู้ (21st Century Learning Environment)


ภาพที่ 1   21st Century Student Outcomes and Support Systems

จากแนวคิดเรื่องทักษะในศตวรรษที่ 21 ทำให้เห็นภาพความสำคัญของการสร้างทักษะเกี่ยวกับการรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT Literacy) เพิ่มเติมจากเพียงแค่ การรู้หนังสือและตัวเลขในอดีต (Literacy and Numeric Literacy) โดยเฉพาะได้เกิดแนวคิดเรื่องการสร้าง การรู้ดิจิตัล (Digital Literacy or Digital Age Literacy)   และ วัฒนธรรมดิจิตัล (Digital Culture)  ในโลกตะวันตกมีมาตั้งแต่ในห้วงประมาณปี ค.ศ. 2003 หลังเทคโนโลยีแบบอนาล็อกถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีดิจิตัล  นอกจากนี้ได้เกิดแนวคิดเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้ใหม่ขึ้นหลากหลาย (New Learning Environment)  เช่น บรรยากาศหรือสิ่งแวดล้อมแบบร่วมมือ (Collaborative Learning Environment) บรรยากาศหรือสิ่งแวดล้อมแบบสร้างความรู้เอง (Constructionism Learning  Environment) ซึ่งในประเทศไทยเริ่มมีการจัดการศึกษาในลักษณะสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้ใหม่นี้รวมทั้งการส่งเสริมทักษะในศตวรรษที่ 21 ในโรงเรียนทางเลือก (Alternative School) ที่มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ อันเป็นโรงเรียนที่มีหลักสูตรที่แตกต่างจากโรงเรียนรัฐบาลทั่วไป มีอิสระในการบริหารตนเองและการฝึกทักษะต่างๆที่เหมาะสมกับโลกปัจจุบันภายใต้การสนับสนุนจากรัฐบาล นอกจากนี้ได้เกิดกระแสการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้โดยใช้อินเตอร์เน็ตโดยเฉพาะบรรยากาศหรือสิ่งแวดล้อมการเรียนแบบทุกที่ทุกเวลาและผู้เรียนเป็นผู้กำหนดจังหวะการเรียนรู้เอง (Anywhere and Anytime Learning and Any Pace Environment) โดยการเรียนการสอนแบบออนไลน์  ซึ่งแนวความคิดเหล่านี้ได้มีอิทธิพลในมุมมองของการเปลี่ยนบทบาทของครูจากผู้สอนไปสู่ผู้อำนวยความสะดวก (Teacher as a facilitator) และผู้เรียนเปลี่ยนบทบาทเป็นผู้แสวงหา (Searcher) อันเป็นบทบาทที่สอดคล้องและเหมาะกับการศึกษาแบบอ่อนตัว (Flexible Education) เช่น การศึกษาแบบออนไลน์ และการเรียนการสอนแบบผสมระหว่างการเรียนออนไลน์ กับ การเรียนแบบชั้นเรียน (Face-to-Face) หรือที่เรียกว่า  การศึกษาแบบผสมผสาน (Blended Education หรือ Hybrid Learning) แต่การศึกษาเหล่านี้เหมาะกับผู้เรียนที่มีลักษณะกระตือรือร้นในการใฝ่หาความรู้เอง (Active Learner) มากกว่านักเรียนประเภทอื่น
ถึงแม้ว่ากระทรวงศึกษาธิการกำลังดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรครั้งใหญ่ให้มีจำนวนชั่วโมงลดลง (นโยบายเรียนน้อยรู้เยอะ) และเพิ่มการฝึกทักษะต่างๆมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในอดีต และอาจมีการประกาศการปฏิรูปการศึกษาในครั้งต่อไป แต่ก็ยังไม่มีใครรับรองได้ว่าการศึกษาไทยจะดีขึ้นแค่ไหน อย่างไรก็ตามได้มีการเกิดขึ้นของโรงเรียนทางเลือกที่มีอิสระในการบริหารและการฝึกทักษะในศตวรรษที่ 21 อย่างจริงจังดังที่กล่าวมาแล้วเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ท่านผู้บริหาร/ผู้กำหนดนโยบายที่ต้องการให้เยาวชน หรือ บุคคลากรมีทักษะที่เหมาะสมกับการแข่งขันในระดับประเทศและนานาชาติในอนาคตอันใกล้นี้คงจะมีข้อมูลมากขึ้นแล้วว่าจะให้เยาวชนหรือ บุคคลากรของท่านเลือกเรียนอะไรในโรงเรียนเช่นไร


เอกสารอ้างอิง

[1] คือระบบการคัดเลือกบุคคลที่อยากจะเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งถูกนำมาใช้จริงครั้งแรกในปี 2548  แทนการสอบเอนทรานซ์ในระบบเดิม ซึ่งในระบบใหม่นี้คะแนนของผู้ที่จะถูกคัดเลือกเข้าสู่สถาบันอุดมศึกษาจะไม่ได้มาจากการสอบเพียงอย่างเดียวทั้งหมดเท่านั้น แต่ยังมีคะแนนบางส่วนจากเกรดเฉลี่ยของที่โรงเรียนมาเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาเข้าศึกษาต่อด้วย นอกจากนี้สถาบันการศึกษาหลายแห่งมีการรับนักเรียนเข้าศึกษาโดยวิธีรับเข้าศึกษาโดยตรงด้วยเช่นกัน


[1] Ordinary National Educational Test หรือที่ภาษาไทยเรียกว่า แบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน ทั้งหมด 5 วิชา คือ ภาษาไทย สังคมศึกษา ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ซึ่งใครก็ตามที่จะสอบแอดมิชชั่นจะต้องสอบ O-NET  การสอบ O-NET จะมีผลต่อคะแนนแอดมิชชั่นรวมถึง 35-70% (ขึ้นอยู่การกำหนดของแต่ละคณะ)

[1] Advanced National Educational Test หรือก็คือการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นสูง สำหรับ A-NET และพวกวิชาเฉพาะกับความถนัดเฉพาะทางจะคิดเป็น 0-35% ของคะแนนรวมทั้งหมด ซึ่งคะแนนจะยืดหยุ่น(แปรผันผกผัน)กับคะแนน O-NET ซึ่งบางคณะก็จะไม่ใช้คะแนน A-NET ในการสอบคัดเลือกเข้าเลยก็ได้ แต่บางคณะก็ใช้มากถึง 35%
[1] การสอบTrends in International Mathematics and Science Study เป็นโครงการของสมาคมนานาชาติ เพื่อประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ของนักเรียนในประเทศสมาชิก โดยมีการประเมินทุก 4 ปี มีประเทศสมาชิกเข้าร่วม 59 ประเทศ
[1] Program  for  International  Student   Assessment  คือ โครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ  ของประเทศสมาชิกองค์กรเพื่อความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ ดำเนินการโดย   OECD   (  Organization    for  Economic  Co-operation    and  Development  ) เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2541 มีประเทศเข้าร่วมโครงการ   65  ประเทศ ประเทศไทยเข้าร่วมโครงการเมื่อปี  2543 ประเมินสมรรถนะ  3 ด้าน  คือ     ด้านการอ่าน     ( Reading  Literacy ) ด้านคณิตศาสตร์ (Mathematic  Literacy ) ด้านวิทยาศาสตร์ ( Scientific  Literacy)
[1] ดร.สมเกียรติ   ตั้งกิจวานิชย์,  สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ( Thailand Development Research Institute: TDRI), การสัมมนาวิชาการการศึกษา ณ.เมืองทองธานี 13-15 ธันวาคม 2555

[1] ดร.สมเกียรติ   ตั้งกิจวานิชย์,  สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ( Thailand Development Research Institute: TDRI), การสัมมนาวิชาการการศึกษา ณ.เมืองทองธานี 13-15 ธันวาคม 2555

[1] Bellanca, J.and Brandt, R. 2010. 21 st Century Skills: Rethinking How Students Learn. Solution Trees Press, หน้า xv

[1] Bellanca, J.and Brandt, R. 2010. 21 st Century Skills: Rethinking How Students Learn. Solution Trees Press, หน้า xv

[1] Bellanca, J.and Brandt, R. 2010. 21 st Century Skills: Rethinking How Students Learn. Solution Trees Press, หน้า 58
      [1] Gere, C. 2002.   Digital culture. Reaktion Books, London Publication, หน้า 1





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น