วันศุกร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2566

พ.ร.บ.ทวงหนี้ พ.ศ.2538

พ.ร.บ. การทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558

มาตรา ๘ ห้ามผู้ทวงถามหนี้ติดต่อกับบุคคลอื่นซึ่งมิใช่ลูกหนี้เพื่อการทวงถามหนี้ เว้นแต่บุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้เพื่อการดังกล่าว
การติดต่อกับบุคคลอื่นนอกจากบุคคลตามวรรคหนึ่ง ให้กระทำได้เพื่อวัตถุประสงค์ในการสอบถามหรือยืนยันข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ติดต่อลูกหนี้ หรือบุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้เพื่อการทวงถามหนี้เท่านั้น โดยผู้ทวงถามหนี้ต้องปฏิบัติ ดังต่อไปนี้
(๑) แจ้งให้ทราบชื่อตัว ชื่อสกุล และแสดงเจตนาว่าต้องการสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ติดต่อลูกหนี้หรือบุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้เพื่อการทวงถามหนี้
(๒) ห้ามแจ้งถึงความเป็นหนี้ของลูกหนี้ เว้นแต่ในกรณีที่บุคคลอื่นนั้นเป็นสามี ภริยา บุพการี หรือผู้สืบสันดานของลูกหนี้ และบุคคลอื่นดังกล่าวได้สอบถามผู้ทวงถามหนี้ถึงสาเหตุของการติดต่อให้ผู้ทวงถามหนี้ชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับหนี้ได้เท่าที่จำเป็น และตามความเหมาะสม
(๓) ห้ามใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้บนซองจดหมายในหนังสือ หรือในสื่ออื่นใดที่ใช้ในการติดต่อสอบถาม ซึ่งทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นการติดต่อเพื่อทวงถามหนี้ของลูกหนี้
(๔) ห้ามติดต่อหรือแสดงตนที่ทำให้เข้าใจผิดเพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ติดต่อลูกหนี้ หรือบุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้เพื่อการทวงถามหนี้

มาตรา ๑๑ ห้ามผู้ทวงถามหนี้กระทำการทวงถามหนี้ในลักษณะดังต่อไปนี้
(๑) การข่มขู่ การใช้ความรุนแรง หรือการกระทำอื่นใดที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกาย ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของลูกหนี้หรือผู้อื่น
(๒) การใช้วาจาหรือภาษาที่เป็นการดูหมิ่นลูกหนี้หรือผู้อื่น
(๓) การแจ้งหรือเปิดเผยเกี่ยวกับความเป็นหนี้ของลูกหนี้ให้แก่ผู้อื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทวงถามหนี้ เว้นแต่เป็นกรณีตามมาตรา ๘ วรรคสอง (๒)
(๔) การติดต่อลูกหนี้โดยไปรษณียบัตร เอกสารเปิดผนึก โทรสาร หรือสิ่งอื่นใดที่สื่อให้ทราบว่าเป็นการทวงถามหนี้อย่างชัดเจน เว้นแต่กรณีการบอกกล่าวบังคับจำนองด้วยวิธีการประกาศหนังสือพิมพ์ ซึ่งเจ้าหนี้ไม่สามารถติดต่อลูกหนี้โดยวิธีการอื่น หรือกรณีอื่นใดตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
(๕) การใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้บนซองจดหมายในการติดต่อลูกหนี้ที่ทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นการติดต่อเพื่อการทวงถามหนี้ เว้นแต่ชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้ไม่ได้สื่อให้ทราบได้ว่าเป็นผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้
(๖) การทวงถามหนี้ที่ไม่เหมาะสมในลักษณะอื่นตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
ความใน (๕) มิให้นำมาใช้บังคับกับการทวงถามหนี้เป็นหนังสือเพื่อจะใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาล

มาตรา ๒๗ ในจังหวัดหนึ่ง ให้มีคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำจังหวัดประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานกรรมการ อัยการจังหวัด ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกในพื้นที่ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด คลังจังหวัด ประธานสภาทนายความจังหวัด เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และผู้แทนองค์กรพัฒนาภาคเอกชนในด้านการคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้ง เป็นกรรมการ
ให้ปลัดจังหวัดเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้คณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำจังหวัดแต่งตั้งข้าราชการของที่ทำการปกครองจังหวัดสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ
ในกรุงเทพมหานคร ให้มีคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เป็นประธานกรรมการ ผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนกรมการปกครอง ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด ผู้แทนมณฑลทหารบกที่ ๑๑ ผู้แทนสภาทนายความ และผู้แทนองค์กรพัฒนาภาคเอกชนในด้านการคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งผู้บัญชาการตำรวจนครบาลแต่งตั้ง เป็นกรรมการ
ให้ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล เป็นกรรมการและเลขานุการ และให้ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลแต่งตั้งข้าราชการตำรวจของกองบัญชาการตำรวจนครบาลสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ
มาตรา ๒๘ ให้คณะกรรมการตามมาตรา ๒๗ มีอำนาจหน้าที่ภายในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบ ดังต่อไปนี้
(๑) พิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องเรียนตามพระราชบัญญัตินี้
(๒) สั่งเพิกถอนการจดทะเบียนของผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ตามมาตรา ๓๗
(๓) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่คณะกรรมการตามมาตรา ๒๗ มอบหมาย
(๔) รายงานการปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการทุกสามเดือน
(๕) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
การประชุมคณะกรรมการตามมาตรา ๒๗ และคณะอนุกรรมการตามวรรคหนึ่ง (๓) ให้นำมาตรา ๒๐ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๒๙ ในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ที่ทำการปกครองจังหวัด และกองบัญชาการตำรวจนครบาล รับผิดชอบในงานธุรการของคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำจังหวัด และคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำกรุงเทพมหานครตามลำดับ และให้มีอำนาจหน้าที่ภายในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบ ดังต่อไปนี้
(๑) เป็นสำนักงานทะเบียนรับจดทะเบียนการประกอบธุรกิจทวงถามหนี้
(๒) รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการทวงถามหนี้เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำจังหวัด หรือคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำกรุงเทพมหานคร แล้วแต่กรณี
(๓) ติดตามสอดส่องพฤติการณ์ของผู้ทวงถามหนี้ หรือกำกับดูแลการปฏิบัติของผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้
(๔) ประสานกับหน่วยงานของรัฐซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลหรือตรวจสอบผู้ทวงถามหนี้ หรือบุคคลอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับการทวงถามหนี้
(๕) รณรงค์ ประชาสัมพันธ์ และอบรมวิธีการทวงถามหนี้ที่ถูกต้องและเหมาะสม
(๖) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะกรรมการ และคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำจังหวัด หรือคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำกรุงเทพมหานคร แล้วแต่กรณี มอบหมาย
มาตรา ๓๐ เพื่อประโยชน์ในการรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการทวงถามหนี้ ให้ที่ว่าการอำเภอ และสถานีตำรวจเป็นสถานที่รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการทวงถามหนี้ได้ด้วย รวมทั้งให้หัวหน้าหน่วยงานดังกล่าวมีอำนาจหน้าที่รวบรวมข้อเท็จจริงและเอกสารเพื่อส่งเรื่องต่อไปยังที่ทำการปกครองจังหวัด หรือกองบัญชาการตำรวจนครบาล แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด

มาตรา ๓๙ บุคคลใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๕ มาตรา ๖ วรรคหนึ่ง มาตรา ๘ วรรคหนึ่ง มาตรา ๘ วรรคสอง (๒) หรือ (๓) มาตรา ๑๑ (๒) (๓) (๔) หรือ (๕) หรือมาตรา ๑๓ (๒) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๔๐ บุคคลใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๒ (๒) (๓) หรือ (๔) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๔๑ บุคคลใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๑ (๑) หรือมาตรา ๑๒ (๑) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น